Thursday, October 16, 2014

มหายานลดหย่อนข้อปฏิบัติบางข้อเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

          พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญคือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆ ตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆ ชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ”

พระพุทธศาสนามหายานเกิดขึ้นอย่างไรและมีแนวคิดอย่างไร
การก่อตัวของมหายาน
          ท่านอาจารย์ เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า การก่อตัวของมหายานเริ่มปรากฏเป็นเค้า ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 1 แต่ยังไม่โจ่งแจ้ง ( เสถียร โพธินันทะ,พุทธศาสนประวัติฝ่ายมหายาน, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543 หน้า 129) มหายานได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากทั้ง 18 นิกายของพุทธศาสนา และดูเหมือนจะมีอิทธิพลมากต่อมหายานคือ นิกายมหาสังฆิกะ มหายานได้ค่อยๆ บำรุงเลี้ยงตนเองโดยการเลือกเฟ้นผสมผสานแนวความคิด หลักปรัชญาจากนิกายต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้นเป็นรูปร่างในราวพุทธศตวรรษที่ 6

กำเนิดมหายานและแนวความคิดแบบมหายาน

          พระพุทธศาสนามหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 600-700 โดยคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิมที่มีอยู่ ในขณะนั้น (ประมาณ 18-20 นิกาย) มีการพัฒนามาจากแนวคิดของนิกายมหาสังฆิกะและนิกายที่แยกไปจากนิกายนี้ คณะสงฆ์กลุ่มนี้ซึ่งเรียกตัวเองว่ามหายาน เป็นนามซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่าสามารถช่วยให้สัตว์ข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มาก
          นิกายมหายานมีนามเรียกว่า “อุตตรนิกาย” แปลว่า “นิกายฝ่ายเหนือ” เพราะตั้งอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย บ้างเรียกว่า “อาจาริยวาท” แปลว่า “วาทะของอาจารย์” เป็นคำคู่กับเถรวาท คือ เถรวาท หมายถึง วาทะของพระเถระรุ่นแรก ที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า ส่วนอาจาริยวาท หมายถึง วาทะของอาจารย์รุ่นต่อๆมา (สุชีพ ปุญญานุภาพ, ประวัติศาสตร์ศาสนา, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540 หน้า 207) 

No comments:

Post a Comment